แม้ว่า 320d จะเปิดตัวพร้อมกันกับ ซีรีส์ 3 ตัวถัง E90 ซาลูน รุ่นอื่นๆ
มาตั้งแต่ เดือนกุมภาพันธ์ 2005 พร้อมๆ กันกับหลายๆประเทศทั่วโลก
(ส่วนเมืองไทย เปิดตัวในเดือนเดียวกัน และเริ่มออกแสดงในบางกอกมอเตอร์โชว์ 2005)
แต่ BMW Thailand ใช้เวลาหยั่งกระแสตลาดนานมากกกกกก กว่าจะนำ 320d
เข้ามาเปิดตัวทำตลาดในเมืองไทย ต้องหยั่งกระแสด้วย 520d ส่งเข้ามาปูทางก่อนล่วงหน้า
จนเห็นว่า ประสบความสำเร็จดี จึงได้ต่อยอดด้วย ก๊อก 2 อย่าง 320d ก๊อก 3 อย่าง X3 xDrive 2.0d
แล้วจึงต่อยอดด้วย 520d E60 ไมเนอร์เชนจ์ ตามด้วย X5 xDrive 3.0d เมื่องาน Motor Expo 2008
ก่อนจะถึงคิวของ 320d ไมเนอร์เชนจ์ เมื่องาน บางกอก อินเตอร์เนชันแนล มอเตอร์โชว์ ปลายมีนาคม 2009
ทั้งที่ รุ่นไมเนอร์เชนจ์ ของซีรีส์ 3 ที่คุณเห็นอยู่นี้ ทาง BMW มิวนิค เยอรมัน
ปล่อยภาพแรก ออกมาแล้ว เมื่อ 11 กรกฎาคม 2008 กว่าที่เมืองไทยจะได้เป็นเจ้าของกัน
ก็ต้องรอไปพักใหญ่ๆ กระนั้น ก็ไม่ถือว่านานอย่างที่คิด
E90 ถือเป็น ซีรีส์ 3 ที่พัฒนาขึ้นโดยใช้โครงสร้างพื้นฐานหลักๆร่วมกับ ซีรีส์ 3 E46 รุ่นเดิม
อยู่พอสมควร ดังนั้น โครงสร้างภายนอก อาจจะดูเหมือนไม่แตกต่างกันมากนัก
และ BMW ใช้วิธี วาดเส้นสายตัวรถตามแนวทางที่ Chris Bangle ผู้นำฝ่ายออกแบบคนเก่าของตน
เคยกำหนดไว้ จนทำให้ตัวรถดูแตกต่างไปจากรุ่นเดิม ชัดเจน แต่แค่นิดหน่อย
แน่ละ เพราะการจะเปลี่ยนโฉมใหม่ในแต่ละครั้ง จึงเป็นเรื่องที่สุ่มเสี่ยงอยู่ใช่เล่น
การปรับปรุง รถยนต์รุ่นขายดีที่สุด ของค่ายใดก็ตาม นั่นคือต้องรวบรวมทั้ง ความกล้าของผู้บริหาร
บวกกับความต้องการของผู้บริโภค กลั่นกรองให้ฝ่ายออกแบบ และฝ่ายวิศวกรรม ทำงานประสานเสียง
กับฝ่ายบัญชี ผู้กุมเงิน และฝ่ายการตลาด ผู้วางแผนงานขาย ไปจนถึงฝ่ายบริการ ที่จะต้องมารับหน้าที่
ดูแลซ่อมบำรุงผลงานที่ทุกๆฝ่าย ทำทิ้งเอาไว้ ในตอนที่รถตกไปอยู่ในมือของลูกค้าแล้ว
ความเปลี่ยนแปลงในรุ่นไมเนอร์เชนจ์ ของซีรีส์ 3 คราวนี้ เกิดขึ้นกับงานออกแบบ
ชิ้นส่วนด้านหน้าและด้านหลัง เป็นหลัก เน้นปรับความสดใหม่ ให้รถดูร่วมสมัยขึ้น
ฝากระโปรงหน้า เพิ่มแนวเส้นด้านบน แบบที่ BMW เรียกว่า “สันคมแบบหัวธนู”
กระจังหน้าแบบใหม่ โค้งมนกว่ารุ่นเดิมอย่างชัดเจน มีขอบนอก เป็นพื้นผิวแบบ 3 มิติ
เช่นเดียวกับ เปลือกกันชนหน้า แบบพลาสติค รีไซเคิล ที่ออกแบบขึ้นใหม่ ให้หน้ารถ
ดูเหมือนจะยิ้มกว้างขึ้น พร้อมไฟตัดหมอกหน้า ดีไซน์ใหม่
ชุดไฟหน้าออกแบบขึ้นใหม่ เป็นแบบ ไบ-ซีนอน และมีชุดไฟเลี้ยวแบบ LED
ออกแบบ ให้ดูคล้ายกับการประดับด้วย กากเพชร
ขณะเดียวกัน บั้นท้ายก็มีการปรับปรุงใหม่ เปลี่ยนฝากระโปรงท้ายทั้งชิ้น
เพราะต้องรองรับกับ ชุดไฟท้าย ซึ่งมาพร้อมไฟเลี้ยวแบบ LED ไฟถอยหลัง
และแผงทับทิมสะท้อนแสง ดีไซน์ใหม่ทั้งหมด ออกแบบมาเพื่อเน้นให้ตัวรถดูกว้างขึ้น
รวมทั้งยังมีการออกแบบกันชนท้าย ให้ใหญ่โตขึ้น และเปี่ยนสเกิร์ตด้านข้างลำตัว
ให้ดูเรียบร้อยขึ้น ช่วยในการลดค่าสัมประสิทธิ์แรงเสียดทานอากาศ ลดลงจาก Cd 0.28 เหลือ Cd 0.26
การปรับเปลี่ยนเปลือกกันชนหน้าและหลัง ทำให้ ระยะ Overhang หน้า
หรือระยะห่างจากล้อจนถึงกันชนหน้า เพิ่มขึ้น 2 มิลลิเมตร
ขณะที่ ระยะ Overhang หลัง (จากล้อจนถึงกันชนหลัง เพิ่มขึ้นอีก 9 มิลลิเมตร)
นอกจากนี้ยังมีการปรับปรุง ความกว้างช่วงล้อ ซ้าย-ขวา ให้เพิ่มขึ้นอีก โดยความกว้างช่วงล้อหน้า
เพิ่มขึ้น 6 มิลลิเมตร ขณะที่ความกว้างช่วงล้อหลัง ปรับปรุงให้เพิ่มขึ้นถึง 22 มิลลิเมตร!